ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมนุษย์สัมพันธ์


1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์

1.1  ความหมายของมนุษยสัมพันธ์
คำว่า มนุษยสัมพันธ์”  มาจากคำว่า  มนุษย์ + สัมพันธ์  มนุษย์ได้แก่  บุคคลและกลุ่มรวมทั้งหมู่คณะด้วย เมื่อนำมาสมาสเข้าด้วยกัน ก็หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม หรือระหว่างบุคคลกับกลุ่ม
           ถึงอย่างไรก็ตามได้มีนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่า มนุษยสัมพันธ์ไว้หลายทัศนะแต่ก็มีความหมายคล้ายคลึงกัน ดังเช่น
          สมพร  สุทัศนีย์  (2544 : 5)  กล่าวว่า  มนุษยสัมพันธ์หมายถึงการติดต่อเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลเพื่อให้เกิดความรักใคร่ชอบพอ ความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย และการดำเนินชีวิตให้มีความราบรื่น
          ชลอ  ธรรมศิริ  (2543 : 480)  ได้กล่าวว่า  มนุษยสัมพันธ์  เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่สร้างขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวระหว่างกัน ให้เกิดความรักใคร่ชอบพอ ความร่วมมือร่วมใจในการทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย และดำเนินชีวิตให้มีความราบรื่น
          วิชัย  แหวนเพชร  (2543 : 16)  กล่าวไว้ว่า  มนุษยสัมพันธ์หมายถึงการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับผู้อื่น และอยู่ร่วมกันด้วยดีและมีสุข
          นงลักษณ์  ประเสริฐ  (2538 : 2)  ให้ความหมายของมนุษยสัมพันธ์ว่า  เป็นศิลปในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและสามารถสร้างสรรค์งานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          อภิญดา  สวารชร  (2530 : 1)  กล่าวว่า  มนุษยสัมพันธ์เป็นวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลปะในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับบุคคล เพื่อให้ได้มาซึ่งความรักใคร่นับถือ ความจงรักภักดี  และความร่วมมือ
          เสริมศักดิ์  วิศาลาภรณ์  (2525 : 128) ได้สรุปว่า มนุษยสัมพันธ์เป็นศาสตร์และศิลปะในการเข้ากับคน การครองใจ และการเอาชนะใจคน ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของผู้นำ
หัวหน้าในการทำงาน หรือปฏิบัติราชการย่อมขึ้นกับความสามารถในการทำงานร่วมกับคน
           โยธิน  ศันสนยุทธ์  (2525 : 1)  ให้ความหมายว่า มนุษยสัมพันธ์ หมายถึงการเข้ากับคนได้
           นิพนธ์  คันธเสวี  (2525 : 4)  กล่าวว่า  มนุษยสัมพันธ์  หมายถึง  สภาพความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตร่วมกันอย่างราบรื่น หรือทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและทุกฝ่ายต่างก็มีความพึงพอใจทุกด้าน


           ฮัลโลแรน  (Halloran, 1995 : 5)  กล่าวถึงมนุษยสัมพันธ์ว่า เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่สามารถลดความขัดแย้ง และเสริมสร้างพฤติกรรมความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างบุคลและองค์การ
           ดูบริน  (Dubrin, 1984 : 4)  เน้นว่า  มนุษยสัมพันธ์เป็นศิลป  และปฏิบัติการประยุกต์ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์ไปใช้ในการทำงาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของงานและองค์การ
ฟูลเมอร์  (Fulmer, 1983 : 9) ได้ให้ความหมายของมนุษยสัมพันธ์ว่า เป็นความสัมพันธ์อันดีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน อันนำไปสู่เป้าหมายของทุกฝ่าย
          เอ็ดวิน บี ฟลิปโป  (Edwin B. Flippo, 1966 : 66) กล่าวว่า   มนุษยสัมพันธ์คือการรวมคนให้ทำงานร่วมกันในลักษณะที่มุ่งให้เกิดความร่วมมือ ประสานงาน ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อให้บังเกิดผลบรรลุตามเป้าหมาย

         กล่าวโดยสรุป  มนุษยสัมพันธ์เป็นกระบวนการติดต่อเกี่ยวข้องกันโดยสัมพันธภาพอันดีตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกัน การให้การยอมรับนับถือ นำไปสู่ความพอใจ รักใคร่ ร่วมมือ สามารถทำงานร่วมกัน จนบรรลุเป้าหมายในงานส่วนบุคคลและงานในองค์การ

1.2  ความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์
                สาเหตุและความจำเป็นที่มนุษย์ต้องสร้าง และใช้มนุษยสัมพันธ์นั้นเรื่องนี้  ธนา  โกมลภิส  (2527 : 5)  ได้กล่าวไว้ว่าเป็นเพราะ
         1.  ความว้าเหว่ เพราะว่าเป็นมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จะอยู่คนเดียวในโลกไม่ได้จะรู้สึกเหงา  จึงต้องสร้างและใช้มนุษยสัมพันธ์โดยการคบเพื่อน เพื่อให้คลายเหงา
         2.  ความรัก  มนุษย์ต้องการแสดงออกซึ่งความรัก คือรักบุคคลที่เกี่ยวข้อง และต้องการให้เขารักตอบด้วยจะแสดงออกในรูปของการรักเพื่อนเพศเดียวกันหรือต่างเพศ  ทั้งความรักอันบริสุทธิ์และความรักด้วยเพศสัมพันธ์
         3. ความปลอดภัย มนุษย์ต้องรวมกลุ่มกัน และสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลหรือกลุ่มที่จะช่วยให้เขาปลอดภัยได้  เช่น  บุคคลพยายามรู้จักกับเพื่อนบ้าน  เพื่อนร่วมงาน  หรือผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพลต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
         4.  การปฏิบัติงาน  มนุษย์ไม่อาจปฏิบัติงานโดยลำพังตนเองได้ จะต้องอาศัยหรือเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับผู้อื่นเสมอ  ดังนั้น  มนุษย์จึงต้องมีเพื่อนร่วมงาน  หรือผู้ปฏิบัติงานจะต้องสร้างทางเดินของตนไว้โดยผูกสัมพันธไมตรีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในลักษณะรู้อะไรไม่สู้รู้จักกันทำให้
การปฏิบัติงานราบรื่นและสำเร็จเรียบร้อย
         5. ความสำเร็จ  มนุษย์ทั้งหลายต่างก็หวังที่จะทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย    หรือตามวัตถุประสงค์ขององค์การ  ผู้บริหารองค์การจะต้องคำนึงถึงความสำเร็จขององค์การโดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้สมาชิกในองค์การรู้จักกันและสามารถประสานงานให้สำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยดี
         6. สังคม  มนุษยสัมพันธ์เป็นการให้มนุษย์รักกัน ชอบพอกัน  ให้การยอมรับและคบหาสมาคมซึ่งกันและกันอันจะนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคม
          7.  เศรษฐกิจ มนุษยสัมพันธ์เพิ่มผลผลิตได้   เพราะมนุษย์มีจิตใจที่เป็นปกติ และเป็นสุข  เนื่องจากมีมนุษยสัมพันธ์ย่อมสร้างงานและเพิ่มผลผลิตได้  ในขณะเดียวกันการมีมนุษยสัมพันธ์จะช่วยเหลือในด้านเศรษฐกิจได้
         8. การเมือง  มนุษยสัมพันธ์ช่วยประสาน  หรือ  จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ในลักษณะที่เรียกว่า กาวใจ

         จากประวัติศาสตร์ของวงการบริหารและการจัดการในองค์การ และสถาบันต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่าได้มีการนำระบบทหารมาใช้ ต่อมาได้พัฒนาการบริหารและการจัดการให้ดีขึ้นตามลำดับ มีการนำวิธีการจัดการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ คือ เฟรดเดอริค  เทเลอร์  และเฮนรี่  ฟาโยล  (Frederick Taylor’s and Henry Fayol’s) ทั้งสองท่านนี้ถือว่า คนงานเปรียบเสมือนกับเครื่องจักรโดยมิได้คำนึงถึงหลักมนุษยสัมพันธ์
         ต่อมานักบริหารคนสำคัญ  คือ  ปาคเกอร์  ฟอลเลต  และเอลตัน  เมโย  (Parker Follett’s and Elton Mayo)  ได้เป็นผู้ริเริ่มนำหลักมนุษยสัมพันธ์มาใช้ในการบริหารงาน เอาใจใส่คนงาน  
ปรากฎว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น  เขาได้ยืนยันว่า  มนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญมากกว่าปัจจัยทางด้านวัตถุ
         สำหรับ  จำรัส  ด้วงสุวรรณ  (2527 : 6-7)  ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ไว้ดังนี้
         1.  ผู้มีหน้าที่ติดต่อกับบุคคลอื่น ในการทำงานจำเป็นจะต้องติดต่อในการขอความร่วมมือจากผู้ร่วมงานในหน่วยงาน และติดต่อกับบุคคลนอกหน่วยงานด้วยจำเป็นต้องรู้และเข้าใจในเรื่องมนุษยสัมพันธ์
         2.  ผลของการวิจัย  ส่วนมากพบว่าสาเหตุที่ทำให้บุคคลล้มเหลวในการทำงานไม่ได้เลื่อนฐานะถูกปลดออกจากงาน  เพราะขาดสามารถในการเข้ากับคนมากกว่าขาดความรู้
         สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกีได้วิเคราะห์ประวัติของบุคคลถึงหมื่นคน และสรุปได้ว่า  การฝึกอบรมทางด้านเทคนิคมันสมองของคนและทักษะในการทำงานนั้น ทำให้คนประสบความสำเร็จเพียง 15 % เท่านั้นแต่ปัจจัยต่าง ๆ ด้านบุคลิก การปฏิบัติต่อผู้อื่นนั้นทำให้คนประสบความสำเร็จถึง 85 %
      นอกจากนี้  ไพโรจน์  โพธิ์วงศ์ (อ้างโดย ธนา โกมลภิส  2527 : 77-84) ได้กล่าวถึงความสำคัญของมนุษยสัมพันธ์ไว้ว่า
         มนุษยสัมพันธ์มีความหมายลึกซึ้งกว่าความสัมพันธ์ธรรมดา คนเราอาจจะมีความสัมพันธ์กับใคร ๆ ก็ได้  แต่ถ้าคนเราไม่มีมนุษยสัมพันธ์  การติดต่อสัมพันธ์กันนั้นก็จะมีลักษณะไม่ต่างจากความสัมพันธ์ในหมู่สัตว์มีความป่าเถื่อนแก่งแย่งแข่งขันเอารัดเอาเปรียบเป็นศัตรูและห่างเหินกัน  ภาวะเหล่านี้คือการแตกสลายของสังคม
         จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า มนุษยสัมพันธ์นั้น อันที่จริงก็คือลักษณะของการกระทำต่อกันทางสังคมในทางบวก  อันได้แก่  การแบ่งปันกัน  การทำให้เป็นพวกเดียวกัน  การร่วมมือกัน  การผ่อนปรนเข้าหากัน  และการประสานประโยชน์กัน  เป็นต้น  และแม้แต่การกระทำต่อกันทางสังคมในทางลบ  เช่น  การแข่งขัน  และการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์  ธรรมชาติได้สร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เป็นเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงจิตใจมนุษย์ให้มีความเข้าใจกันและกัน  ไม่แข่งขัน  ห้ำหั่นกันจนตัวเองและสังคมสูญสลายไป
         เราจะเห็นว่า ธรรมชาติของมนุษยสัมพันธ์ปรากฏอย่างเด่นชัดในคำสอนของบรรดาศาสนาสำคัญ ๆ ในสังคมต่าง ๆ เป็นเวลานับพันปีมาแล้วเป็นต้นว่าในศาสนาคริสต์มีกฎสำคัญอยู่ว่า  “ จงปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านของท่าน  เหมือนที่ท่านปฏิบัติต่อตัวของท่านเอง ”  หรือในศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาสำคัญในสังคมไทยก็มีคำสอนเกี่ยวกับความเมตตากรุณา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ยากและความจำเป็นที่มนุษย์เราต้องโอบอ้อมอารี  เห็นอกเห็นใจกันแบบ อกเขาอกเรา
กระบวนการในความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปของการจูงใจหรือสร้างน้ำใจตามหลักมนุษยสัมพันธ์นั้นมีความสำคัญต่อการบริหารทุกขั้นตอนองค์กรทางการเมืองก็ดี  
หน่วยราชการก็ดี งานธุรกิจ บริษัท หรือ กิจการอุตสาหกรรมสมาคมต่าง ๆ จะเจริญก้าวหน้า และดำเนินกิจการไปได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้ากับคนงานหรือลูกจ้าง  การจูงใจให้คนเหล่านั้นร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงานให้ได้ผลตามเป้าหมาย
         ที่เป็นดังนี้เนื่องจากมนุษยสัมพันธ์เป็นเครื่องมือในการสร้างน้ำใจและผลงาน งานจะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้หลักมนุษยสัมพันธ์ได้ดีและถูกต้องเพียงใดหรือไม่ ทั้งนี้เพราะมนุษยสัมพันธ์จะช่วยส่งเสริมการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
มีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ถ้าหมู่คณะขาดเสียซึ่งมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในแนวดิ่งและในแนวราบของสายการบังคับบัญชา ก็จะมีแต่เรื่องทะเลาะ ยุ่งเหยิง จะหวังให้หมู่คณะหรือ องค์กรนั้น ๆ ทำงานให้สัมฤทธิผลด้วยดี มีความสุขใจในอันที่จะร่วมสร้างศรัทธาในการทำงาน
ให้เกิดขึ้นและมีอยู่ตลอดไปได้อย่างไร
         ในทางการเมือง พรรคการเมืองที่สมาชิกไม่มีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน หัวหน้าพรรคใช้อำนาจเป็นใหญ่โดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกพรรค ลูกพรรคต่างก็หันหลังให้กันไม่ร่วมมือกัน ต่างคนต่างก็หวังตำแหน่งต่าง ๆ ทั้งในพรรคและนอกพรรค ชิงดีชิงเด่นกัน ที่สุดพรรคก็ไปไม่รอด
         สภาพดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นที่ไหนก็พังที่นั่น ถ้าเกิดในรัฐสภา รัฐสภาก็จะกลายเป็นตลาด ถึงเวลาลงคะแนนเสียงวาระสำคัญ ต่างคนต่างพรรคก็ทุ่มเงินซื้อเสียงกัน  แต่เงินนั้นไม่สามารถสร้างความจงรักภักดีในระยะยาวเหมือนกับความมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน
         ความมีมนุษยสัมพันธ์ต่อกัน  ก็คือ  การสร้างความเข้าใจอันดี  เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีเกิดความพอใจ  เกิดความรักใคร่  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมประชาธิปไตยอย่างสังคมไทย เพราะเมื่อมีความรักความเข้าใจดี
ต่อกันแล้ว ก็จะเกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจและจริงใจ
         ในทางการปกครอง  ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในสังคมด้อยพัฒนาส่วนมาก คือข้าราชการกับประชาชนเข้ากันไม่ได้ วิกฤตการณ์ในภาคใต้ของสังคมไทยปัจจุบัน ก็มีสาเหตุใหญ่มาจากปัญหานี้ กล่าวคือ เจ้าหน้าที่รัฐบาลทำตัวเป็นนายชาวบ้าน ถืออภิสิทธิ์ละเลยหลักสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์เกี่ยวกับการสร้างความประทับใจให้บุคคลอื่นโดยการให้เกียรติเขายกย่องให้ความสำคัญ
แก่เขา
          เป็นที่ทราบกันดีว่า คนเรานั้น ชื่นชมกับการได้รับยกย่องสรรเสริญ เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการเกียรติยศชื่อเสียง มนุษยสัมพันธ์จึงควรจะมีอยู่ในทุกกระบวนการของปฏิบัติราชการ  แต่อำนาจและอภิสิทธิ์ที่ใช้กันมานานเป็นประเพณี ทำให้ข้าราชการบางส่วนในสังคมไทยลืมปรัชญามนุษยสัมพันธ์เกี่ยวกับการยอมรับนับถือศักดิ์ศรีของคนทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ขึ้นมากมาย  
นับแต่การเดินขบวนขับไล่ข้าราชการที่โน่นที่นี่ จนถึงปัญหาเกี่ยวกับผู้ก่อการร้าย
         สำหรับในทางเศรษฐกิจนั้น มีคำกล่าวที่น่าทึ่งอยู่ประโยคหนึ่งว่า มนุษยสัมพันธ์ เพิ่มผลผลิตได้ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งในสังคมด้อยพัฒนาอย่างเรานั้น คือปัญหาเรื่องปากท้อง  ความอดอยากยากจน ถ้าระบบการผลิตอาหารและสินค้าต่าง ๆ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  หรือผลิตมาแล้ว แบ่งสันปันส่วนกันอย่างไม่ยุติธรรม  คนจนที่หัวโซเป็นล้าน ๆ จะทำให้สังคมปั่นป่วน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่หลายคนไม่ปรารถนา
          ระบบการผลิตจะมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการทำงานของคน การทำงานของคนแต่ละคนขึ้นอยู่กับมูลเหตุจูงใจที่จะกระตุ้นให้คนทำงาน มูลเหตุจูงใจเหล่านี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับจิตใจ การมีจิตใจดีจะทำให้การผลิตสูงขึ้นตามเป้าหมายอย่างสมบูรณ์


         จิตใจที่ดีนั้นมาจากหลายความรู้สึก ที่สำคัญคือความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย การที่ได้รับการยกย่องนับถือ  การยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโอกาสก้าวหน้าของชีวิต
          เมื่อได้ผลผลิตโดยส่วนรวมเพิ่มสูงตามเป้าหมายแล้ว ก็ต้องเอามาแบ่งกันอย่างยุติธรรม  คนยากจนควรจะได้รับประโยชน์จากผลผลิตนั้นมาก  ส่วนคนร่ำรวยก็ควรรับประโยชน์จากผลผลิตนั้นตามสมควรตามหลักของประชาธิปไตยที่ว่าคนที่เกิดมามีโอกาสก้าวหน้าของชีวิต
         เมื่อได้รับผลผลิตโดยส่วนรวมเพิ่มสูงตามเป้าหมายแล้ว ก็ต้องเอามาแบ่งกันอย่าง ยุติธรรม  คนยากจนควรจะได้รับประโยชน์จากผลผลิตนั้นมาก  ส่วนคนร่ำรวยก็ควรรับประโยชน์จากผลผลิตนั้นตามสมควรตามหลักของประชาธิปไตยที่ว่าคนที่เกิดมามีโอกาสมากกว่าควรให้สังคมมากกว่ารับ  และหลักของมนุษยสัมพันธ์ก็ไม่ใช่อะไรอื่นเลย  เป็นหลักของการให้ธรรมดา ๆ นี่เอง
         การให้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแต่ทรัพย์สินเงินทองหรือผลประโยชน์ที่เป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว  แต่หมายรวมถึงการให้ความรัก  ความเห็นอกเห็นอกเห็นใจ  อย่างที่โบราณว่า ให้เอาใจเขามาใส่ใจเราคนรวยก็ให้ความเห็นอกเห็นใจคนจนต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือว่าเป็นมนุษย์
มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน มีไม่มีถือถือว่ามีค่ามีประโยชน์ต่อสังคมเหมือนกัน
         หลักมนุษยสัมพันธ์ในเรื่องความรักนี่เอง  เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยทุกวันนี้เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาหลายอย่างอันได้แก่ ความแตกแยก ความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน  การแบ่งแยกกันเป็นพวกเป็นเหล่า การพูดโฆษณาชวนเชื่อให้ร้ายป้ายสีกันจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายทำลายชีวิตกัน ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นอย่างชัดว่า สังคมของเราขาดแคลนในเรื่องมนุษยสัมพันธ์และมีความต้องการมันมากเพียงใด
         เพราะหลักความรักนั้นเป็นที่มาของการสมัครสมานสามัคคี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่รอดของสังคมไทยทุกวันนี้

          เป็นที่น่าปลื้มปิติยินดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงแสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่า หลักการของมนุษยสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับความรักนั้นมีผลทำให้สังคมไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคงเพียงใด พระองค์ทรงให้ความรักแก่พสกนิกรของพระองค์ประดุจบิดามารดาให้ความรักแก่บุตร ทรงมีพระเมตตาปรานีต่อคนยากจนในชนบทที่ห่างไกลทั่วทุกหนแห่งแม้จะทรงลำบากต่อการเดินทางอันทุรกันดารก็ไม่ทรงย่อท้อ ผลก็คือเกิดความผูกพันอันลึกซึ้งระหว่างคนไทยทุกคนกับพระมหากษัตริย์ ชนิดที่ไม่มีสังคมใดในโลกเสมอเหมือน
         จนเป็นที่เชื่อกันว่าความผูกพันนี้แหละจะเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมไทยอยู่รอดตลอดไป  ไม่ว่าจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ  สังคม  และ การเมือง การปกครองมากมายจนถึงขั้นวิกฤติการณ์ สักเพียงใดก็ตาม
จึงสรุปได้ว่ามนุษยสัมพันธ์มีความจำเป็นและสำคัญต่อบุคคลทุกคนทุกหมู่เหล่าในการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงานทั้งปวงได้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีและมีความสุขเปรียบเสมือนน้ำมันที่หล่อลื่นให้เครื่องจักรทำงานได้ด้วยดี

1.3  ความเป็นมาของมนุษยสัมพันธ์
มีการศึกษามนุษยสัมพันธ์เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญ ในการบริหารมีมานานแล้ว ตั้งแต่ก่อน ปี ค.ศ.1930   มนุษยสัมพันธ์ได้รับการสนใจในแง่เป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การปรับปรุงงาน การจัดการและอยู่ร่วมกันในองค์การอย่างราบรื่น ความรู้เกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ มีปรากฏในเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์เพื่อการครองใจกัน ความผูกพันรักใคร่ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ยังมีปรากฏอยู่ในคำสั่งสอนของศาสนาต่าง ๆ เช่น กฎทองคำ (Golden Rule) ในคริสต์ศาสนา ได้กล่าวว่า จงปฏิบัติต่อเพื่อนบ้านของท่านเหมือนกับท่านได้ปฏิบัติต่อตัวท่านเอง หรือปรากฏอยู่ในรูปของ
คำสอน สุภาษิตต่าง ๆ เช่น


                                ให้ท่าน          ท่านจักให้             ตอบสนอง
                               นบท่าน              ท่านจักปอง           นอบไหว้
                                            รักท่าน              ท่านควรครอง         ความรัก เรานา
                               สามสิ่ง               นี้เว้นไว้                แด่ผู้ ทรชน
                                                                                                                                                                                                                                                                            (โครงโลกนิติ)

            ในระยะแรก ๆ ขาดการศึกษาค้นคว้า รวบรวม วิจัย และเผยแพร่ในแง่วิชาการ ต่อมา ในราวศตวรรษที่ 19 มีการเคลื่อนไหวทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการรวบรวมความรู้ ศึกษาค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง และเป็นระบบมากขึ้น จนกลายเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง (Halloran, 1995 : 8-14) ต่อไปเป็นรายละเอียดความเป็นมาของ มนุษยสัมพันธ์เพิ่มเติมพอสังเขป ดังนี้
            
หลังจากปฏิวัติอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เทย์เลอร์ (Taylor) และคณะ ได้พัฒนาระบบการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) เพื่อเพิ่มผลผลิตโดย มีจุดมุ่งหมายสำคัญ เพื่อขจัดสาเหตุการไม่ลงรอยกัน ระหว่างนายจ้างกับผู้ทำงาน เทย์เลอร์ มีความเชื่อว่า ถ้านายจ้างสามารถทำงานร่วมกับผู้ทำงานได้ ก็จะส่งถึงผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เทย์เลอร์
ยังเชื่อว่า มนุษยสัมพันธ์ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการทำงาน ในการพัฒนาระบบการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์แนวใหม่ มีการพัฒนาการประเมินทักษะและความสามารถ โดย การพัฒนาระบบการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์แนวใหม่ มีการพัฒนาการประเมินทักษะและความสามารถ โดยการใช้แบบทดสอบและการฝึกอบรมเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้บริหารทางธุรกิจหลายท่าน
เชื่อว่า แบบทดสอบสามารถคัดเลือกคนได้ แต่ไม่ทั้งหมด มีการเปลี่ยนแปลงด้านมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานมากขึ้น ทำให้การทำงานและการบริหารงานเป็นระบบระเบียบ ต่อมา
             ในระหว่างปี ค.ศ.1927-1932 มีการศึกษาทดลองที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักเกี่ยวกับการศึกษา  ฮอธอร์น (Hawthorne Studies) โดย เมโย (Mayo) และคณะ ได้ทำโครงการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่าง The National Research Council กับ The Massachusetts Institute of Technology ที่โรงงานฮอธอร์น ของบริษัท Western Electric ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา 
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ที่ส่งผลต่อการทำงานของคน ได้แก่ ความเข้มของแสง การถ่ายเทอากาศ และความเหนื่อยล้าของคนงาน ผลการวิจัยพบว่า ผลผลิตของการทำงานมิได้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางสังคมอื่น ๆ ด้วยเป็นต้นว่าขวัญของกลุ่ม และการจูงใจส่วนบุคคล พอจะสรุปแนวความคิดของเมโยได้ดังนี้
             1. เกี่ยวกับปทัสถานทางสังคม ได้พบว่า ผู้ทำงานที่ยอมรับกฎเกณฑ์อย่างไม่เป็นทางการ ของกลุ่ม มีความสบายใจ มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และสามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่า ผู้ที่ไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ของกลุ่ม
             2. เกี่ยวกับกลุ่ม พฤติกรรมกลุ่ม มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของแต่ละบุคคล
             3. เกี่ยวกับการให้รางวัล และการลงโทษ พบว่า การได้รับการยอมรับนับถือ การให้ความเห็นอกเห็นใจ และความจงรักภักดีต่อกลุ่ม มีผลต่อการจูงใจในการทำงานมากกว่า รางวัล ที่เป็นเงิน
            4. เกี่ยวกับการบริหาร พบว่า การบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสูง ขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่มีความสามารถในการสื่อ การเป็นนักฟังที่ดี ไม่วางตนเป็นเจ้านายมีอำนาจเหนือคนอื่น และสามารถให้คำปรึกษาหารือกัน โดยไม่ใช้วิธีการตัดสินใจของตนฝ่ายเดียว

             5. เกี่ยวกับรูปแบบการบริหารจัดการ ได้พบว่า การให้ผู้ทำงานจัดการรับผิดชอบงานด้วย
ตนเอง ช่วยให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปด้วยมิตรภาพ คนทำงานเกิดความพึงพอใจ และเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นด้วย (วนิดา เสนีเศรษฐ 2530 : 88-89)
             ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนั้น ยังคงใช้เป็นแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ ในระยะเวลาต่อมา จากหลักการและความพยายามที่จะบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยปัจจัยสำคัญเกี่ยวกับความเข้าใจพื้นฐานในความต้องการของมนุษย์ เมโยจึงได้รับสมญาว่าเป็น บิดาแห่ง
มนุษยสัมพันธ์
             แนวความคิดของเมโยแตกต่างไปจากความคิดของเทย์เลอร์ ซึ่งเมโยเชื่อว่า การเพิ่มผลผลิตในการทำงานมิได้เป็นผลมาจากการทำงานของผู้ทำงาน แต่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคลฝ่ายต่าง ๆ อย่างราบรื่นมากกว่า มนุษยสัมพันธ์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมจนถึงหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มนุษยสัมพันธ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการแสวงหาสันติภาพ อิสรภาพ และการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ในธุรกิจอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม และให้ความสนใจในสัมพันธ์ภาพของมนุษย์ คนทำงาน
มีโอกาสได้รับความรู้และพัฒนาด้านทักษาทางสังคมมากขึ้น สามารถได้รับการตอบสนองซึ่ง
ความต้องการและสร้างสรรค์งานของตนให้ดีขึ้น
             นักพฤติกรรมศาสตร์ให้ความสนใจมนุษยสัมพันธ์เชิงพฤติกรรมศาสตร์ประยุกต์ เพื่อความเข้าใจพฤติกรรมของคน เข้าใจอิทธิพลของสภาพแวดล้อมต่อพฤติกรรมของบุคคล และเชื่อว่า ความเชื่อของบุคคลมีผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ นอกจากนั้นก็มีการศึกษาและเผยแพร่ทฤษฎีทางธุรกิจและสังคมศาสตร์ที่สำคัญ 2 ทฤษฎี โดยแมคเกรเกอร์ (McGregor) ได้แก่ ทฤษฎี X และทฤษฎี Y โดยอาศัยแนวความคิดด้านมนุษยนิยม มาสโลว์ (Maslow) ได้ศึกษาระดับความต้องการของมนุษย์ อันมีผลต่อการศึกษามนุษยสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง ในระหว่าง ค.ศ.1940 และ 1950 มีนักจิตวิทยาหลายท่าน เช่น โรเจอร์ส (Rogers) และ เลวิน (Lewin) รวมทั้งนักสังคมวิทยา เช่น เบล (Bell) และมิลล์ (Mills) ต่างให้ความสนใจเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์มากขึ้น ต่อจากนั้นมา มนุษยสัมพันธ์จึงกลายเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่มีการเปิดสอนอย่างเป็นทางการและได้รับการยอมรับจากบุคคลในวงการธุรกิจมาก
             ในระยะต้น ๆ ของปี ค.ศ.1980 เป็นที่น่าสังเกตว่า ทฤษฎีทางธุรกิจ และแนวความคิดเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ ได้มีการพัฒนาในประเทศอื่น ๆ เช่น ทฤษฎี Z เน้นปรัชญาการทำงานของญี่ปุ่น มีความเชื่อว่าเวลาของชีวิตการทำงาน ความมั่นคงขององค์การและกลุ่ม มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน
             ในปัจจุบันนั้นประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้ความสนใจคุณภาพของชีวิตมนุษย์ โดยเน้นการพัฒนาตนและความต้องการภายใจของบุคคลมากกว่าวัตถุนิยม บุคคลต้องตัดสินใจระหว่างเงินกับความรู้สึกสำเร็จในจิตใจ ต้องการบูรณาการระหว่างงานกับวิถีชีวิตให้มากขึ้น บุคคลทั่วไปต้องการได้รับความเอาใจใส่ต่อจิตใจ ซึ่งเดิมไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องเหล่านี้มาก่อนเลย ผู้บริหารงานที่ดี มักจะใช้วิธีเสนอคำถามใหม่ ๆ ต่อผู้ร่วมงานของเขา  เช่น  เราจะทำงานให้ดีขึ้นอย่างไร และเราสามารถไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสนใจร่วมกัน มนุษยสัมพันธ์ได้รับการพิจารณาให้เข้าไปมีบทบาทในวิชาชีพต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น วิชาชีพการแพทย์ ได้เปลี่ยนแนวความคิดจากการรักษาโรค มาเป็นการรักษาคนเป็นโรค วิชาชีพพยาบาลได้เปลี่ยนทัศนะจากการพยาบาลผู้ป่วย โดยเน้นการบริการด้วยการจูงใจมากขึ้น วิชาธุรกิจได้เปลี่ยนแนวคิดจาก
การเสนอขาย มาเป็นการเสนอบริการต่อผู้บริโภค วิชาชีพครู ไม่มุ่งเน้นเพียงการสอนหนังสือ แต่มุ่งส่งเสริมให้คนใฝ่การเรียนรู้ เป็นต้น
             จากแนวโน้มดังกล่าวมานี้ จึงได้มีการพัฒนาวิชามนุษยสัมพันธ์ ให้เป็นแขนงวิชาเฉพาะมากขึ้น ได้แก่ มนุษยสัมพันธ์สำหรับแพทย์ มนุษยสัมพันธ์สำหรับผู้บริหาร มนุษยสัมพันธ์ ในองค์การ และมนุษยสัมพันธ์สำหรับครู เป็นต้น นอกจากจะมีการเปิดสอนวิชามนุษยสัมพันธ์ ในทุกสายวิชาชีพแล้ว ยังมีการฝึกอบรมมนุษยสัมพันธ์สำหรับผู้ทำงาน พนักงานในองค์การภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไปอย่างกว้างขวาง

1.4 ประโยชน์ของวิชามนุษย์สัมพันธ์
วิชามนุษยสัมพันธ์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับทุกคน และมีโอกาสใช้อยู่ตลอดเวลาทุกกรณีตลอดชีวิตเพราะมนุษย์จะต้องติดต่อสัมพันธ์และกันตลอดเวลาและทุกหนทุกแห่ง ยิ่งคนเราต้องใช้ชีวิตในโลกและสังคมปัจจุบันแบบสมัยใหม่มากเท่าใดความจำเป็นที่ต้องติดต่อและพึ่งพาอาศัยคนอื่นก็ยิ่งมีมากขึ้นทุกขณะตั้งแต่เกิดไปจนตาย วิชามนุษยสัมพันธ์นี้สามารถทำให้ผู้เรียนมีความสุขในชีวิตส่วนตัว มีส่วนสร้างสรรค์ความสงบ ความเรียบร้อยและความเจริญก้าวหน้า ให้ในหมู่คณะและสังคมประเทศชาติได้อย่างถาวร อย่างไรก็ตามอาจสรุปประโยชน์ของวิชามนุษยสัมพันธ์ได้ดังนี้
         1. เพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติ ความต้องการ ความแตกต่าง ตลอดจนลักษณะของบุคคล
รู้วิธีที่จะเอาชนะใจคนให้เข้ามาร่วมงานด้วยความรักและความพอใจ
         2. ทำให้เกิดความราบรื่นในการคบหาสมาคม และสามารถทำงานร่วมกับบุคคลทุกคน
         3. เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารในการใช้มนุษยสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จของงาน
         4. ทำให้เกิดความเชื่อถือ รักใคร่ซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสามัคคี
         5. เป็นสื่อในการติดต่อประชาสัมพันธ์ให้บุคคลอื่นยอมรับเข้าใจในการปฏิบัติงานของเรา
ตลอดจนรับฟังข้อคิดเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง อันจะทำให้กิจการต่าง ๆ ที่ทำขึ้นนั้นสำเร็จได้ด้วยดี
         6. เป็นปัจจัยสำคัญในการประสานงาน และประสานประโยชน์เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาทาง
สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง และการเมือง
         7. ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน พร้อมที่จะร่วมมือกันทำงาน และอยู่ร่วมกัน

สรุป มนุษยสัมพันธ์เป็นวิชาที่ว่าด้วยศาสตร์และศิลป์ในการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลเพื่อที่จะให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติงานหรืออยู่ร่วมกันด้วยดีและมีความสุข  มนุษยสัมพันธ์มีความสำคัญมากในการที่จะเชื่อมต่อหรือประสานใจในลักษณะกาวใจระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อันจะยังประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อบุคคลและมนุษยชาติ สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และจะช่วยเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่สังคมได้เป็นอย่างดี